วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Cloud is coming


เราได้ยินคำว่า Cloud Computing กันมาหลายปีแล้วนะครับ ผมเองได้เขียนแนะนำเรื่อง Cloud Computing ไปตั้งแต่ปี 2008 จนมาถึงปัจจุบัน คำ Cloud Computing นั้นเริ่มได้ยินเข้าหูบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ต้องยอมรับเลยนะครับว่าตัว Cloud Computing นั้นกำลังเป็นกระแส เพราะผลวิจัยของทาง Gartner ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาก็บอกว่า Cloud Computing นั้นเป็น Strategic Technology ที่องค์กรนั้นไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะฉะนั้นใครๆ ก็ต่างมองหา Cloud Computing ใครๆ ก็อยากกระโดดเข้าไปในวงการ Cloud Computing เพื่อจะได้มีส่วนแบ่งในเค้กชิ้นนี้บ้าง จนผู้ใช้เองก็เริ่มงงเริ่มสับสนกับ Cloud Computing จนไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่
ปัญหาของ Cloud Computing ในปัจจุบัน
1.    ผู้เล่นจำนวนมาก อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า Cloud Computing นั้นเป็นเทคโนโลยี่ที่กำลังมาแรงเป็นเทรนของโลกใครๆ ก็อยากจะมีส่วนแบ่งในตลาดนี้ ใครๆ ก็ต่างอ้างว่าตนเองนั้นมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Cloud Computing กันทั้งนั้น ตั้งแต่ Hardware, Software และ Service ไม่ว่าจะเกี่ยวนิดเกี่ยวหน่อยหรือเกี่ยวแบบห่างๆ ถึงอย่างไรก็ขอให้ได้เกี่ยว ขอให้ได้เกาะกระแส Cloud Computing จะได้ไม่หลุดเทรน อย่างน้อยก็ยังพอจะใช้ชื่อ Cloud Computing ขายได้บ้าง
2.    หลากความหมาย ถ้าเราจะไปไล่ดูจริงๆ จะเห็นได้ว่าจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับ Cloud Computing อยู่อย่างมากมาย แต่ละคนแต่ละ Vendor ก็มักจะมีความหมายของตัวเอง เผื่อให้เข้ากับประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครทำธุรกิจในด้านไหน เขาก็อาจจะจับเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องเอามาอธิบายความหมายของ Cloud Computing
3.    โฆษณาเกินจริง Cloud Computing เป็นเทคโนโลยีที่ถือได้ว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งของวงการ แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่ของใหม่ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราเคยเจอมาแล้วทั้งนั้น ถึงแม้ตัว Cloud Computing เองจะมีส่วนช่วยให้งานหลายๆ งานที่ไม่เคยทำได้มาก่อนให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ Cloud Computing ก็ไม่ใช่คำตอบที่สามารถตอบได้กับทุกๆ คำถามอย่างที่หลายๆ คนได้ยินมา
4.    ผู้บริโภคสับสน  ด้วยหลายๆ ปัจจัยที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นสาเหตุทำให้ผู้บริโภคในตลาดเกิดความสับสนว่า จริงๆ แล้ว Cloud Computing คืออะไรกันแน่ แล้ว Service ที่ให้บริการคืออะไร ระบบกล่าวอ้างกันจะสามารถให้บริการได้จริงหรือเปล่า หรือจะเป็นเพียงแค่อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ล้มไม่เป็นท่า
เหตุผลที่ทำให้ Cloud Computing มีโอกาสเกิดในบ้านเรา
เราเคยเห็น Concept ที่คล้ายๆ กับ Cloud Computing มาแล้วในอดีตยกตัวอย่างเช่น Application Service Provider หรือ ASP ที่หลายคนคาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะดังเปรี๊ยงปร้าง มีโอกาสเจริญเติบโตมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามคาด ASP นั้นเจ๊งไม่เป็นท่า แล้วเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นกับ Cloud Computing หรือเปล่า คงต้องมาลองดูครับ
1.    ความพร้อมของเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่ประกอบขึ้นมาเป็น Cloud Computing นั้นไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นของเดิมๆ ที่เราเคยเห็นมาแล้วตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น Virtualization ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเครื่องเมนเฟรมโน่น ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี Virtualization จะไม่ใช่ข้อบังคับของ Cloud Computing แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหากไม่มี Virtualization แล้ว Clound Computing ก็คงเกิดได้ยาก หรือจะเป็น Concept ด้านการให้บริการในรูปแบบของ Service ที่ผู้ใช้เองไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของระบบที่ให้บริการ จ่ายแค่ค่ารายเดือน ก็ไม่ใช่ของใหม่เพราะเราก็เคยได้เห็นมาแล้วในสมัยของ ASP อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเทคโนโลยีที่เป็นส่วนประกอบของ Cloud Computing นั้นไม่ใช่ของใหม่ เป็นเทคโนโลยีที่มีอายุมาสักพักใหญ่แล้ว ผ่านการทดสอบ มีการพัฒนาทำให้เทคโนโลยีนั้นมีความมั่นคงมากขึ้น 
2.    Service Concept ด้วยแนวคิดด้านการให้บริการแบบ Service นั้นจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่ไม่ประสพความสำเร็จในอดีต น่าจะมีปัจจัยหลายอย่าง หรือความไม่พร้อมของตลาดเอง ที่จะรับแนวคิดนี้ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปด้วย ตลาดเริ่มมองเห็นประโยชน์ของการให้บริการแบบ Service ทำให้โอกาสในความสำเร็จนั้นเปิดกว้างขึ้น
3.    Broadband Internet ด้วยระบบ Infrastructure ของบ้านเราที่พัฒนาขึ้นไปมากแล้ว (ถึงแม้จะไม่ได้มากอย่างที่ต้องการก็ตาม) ทำให้เรามีโอกาสใช้ Internet แบบ Broadband กันมากขึ้นเรื่อยๆ ความเร็วในการเชื่อมต่อก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริการได้มากขึ้นและหลากหลายขึ้น นี่เองคือช่องทางทำให้โอกาสในการเข้าถึง Service ของ Cloud Computing นั้นมีมากขึ้นด้วย ด้วยท่อเชื่อมต่อขนาดใหญ่ทำให้เราสามารถรับข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น ลองคิดดูว่าถ้าเรายังหมุนโมเด็มเพื่อเชื่อมต่อด้วยความเร็ว 56 Kpbs เหมือนเมื่อก่อนโอกาสที่ Service ที่ให้บริการหลากหลายรูปแบบนั้นจะเกิดได้อย่างรวดเร็วก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
4.    ลดค่าใช้จ่ายในองค์กร องค์กรแต่ละองค์กรเองต่างก็พยายามจะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายทางด้านไอทีก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายลง แต่ในการลดค่าใช้จ่ายนั้นก็ต้องไม่ทำให้การดำเนินธุรกิจนั้นมีผลกระทบไปด้วย Cloud Computing จึงเป็นทางเลือกในการใช้จ่ายที่ไม่ต้องลงทุนมาก แต่ก็ยังทำงานได้เหมือนเดิม
5.    เศรษฐกิจตกต่ำ ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังตกต่ำการลงทุนทางด้านไอทีขนาดใหญ่ กลายเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างมาก บางองค์กรเองต้องชะลอการขยายตัวหรือขยายงานหรือลงทุนในด้าน Hardware หรือ Software ออกไปก่อนเพื่อความอยู่รอดขององค์กรเอง แต่ Cloud Computing ก็สามารถช่วยลดการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีนี้ได้ แต่ยังเปิดโอกาสให้องค์กรนั้นสามารถขยายงานที่วางแผนไว้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก การทดลองโครงการต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง หากไม่ประสพความสำเร็จองค์กรเองก็เสียค่าใช้จ่ายไม่มากเท่ากับการลงทุนเองทั้งหมด
มุมมองผู้ใช้
ไม่ว่าใครจะให้ความหมายของการให้บริการของ Cloud Computing ไปแบบใดซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการให้บริการว่าเขาจะให้บริการอะไร ให้บริการด้าน Software ให้บริการด้าน Platform หรือให้บริการด้าน Infrastructure แต่ในส่วนของ Key Concept ในการให้บริการนั้นก็ยังเหมือนกันไม่ว่าใครจะให้บริการในด้านใด จากภาพ End Users หรือผู้ใช้คือผู้ที่มีความต้องการที่จะใช้บริการต่างๆ สิ่งที่ผู้ใช้สนใจก็คือสิ่งที่เขาต้องการ (Request) ที่เขาร้องขอไปที่ระบบ สิ่งที่รับกลับมาก็คือผลลัพธ์ (Result) หรือบริการต่างๆ ตามที่เขาร้องขอไป ผู้ใช้เองไม่จำเป็นต้องทราบว่ากระบวนการที่ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เขาต้องการนั้นเป็นอย่างไร หรือยุ่งยากเพียงใด ในความเป็นจริงผู้ใช้เองก็ไม่ได้อยากจะทราบอยู่แล้วเพราะสิ่งที่ต้องการอย่างเดียวก็คือผลลัพธ์
ลักษณะการให้บริการของ Cloud Computing นั้นแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีการให้บริการผ่านทางอินเตอร์เน็ต และการให้บริการนั้นจะออกมาในรูปแบบของ Service-Based ทั้งหมด ส่วนในเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้นก็จะคิดตามส่วนที่เปิดใช้งานเท่านั้น ใช้เยอะก็จ่ายเยอะใช้น้อยก็จ่ายน้อย จุดนี้เองน่าจะเป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งของ Cloud Computing ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเริ่มต้นใช้งานในขนาดเล็กๆ ก่อนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมากเมื่อมีความต้องการมากขึ้นจึงค่อยขยายและจ่ายมากขึ้นตามการใช้งาน
ความสามารถในการขยายก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ผู้ใช้สามารถกำหนดความต้องการของตนเองได้ว่าเราต้องการบริการอะไรบ้าง ประสิทธิภาพในการให้บริการเป็นเท่าไร โดยผู้ใช้สามารถเริ่มจากปริมาณน้อยๆ แล้วค่อยๆ ขยายขึ้นไปได้เรื่อยๆ ตามความต้องการของตัวเอง ตัวระบบนั้นมีความยืดหยุ่นพอที่จะรองรับความต้องการของลูกค้า โดยในการสั่งงานในการเพิ่มหรือลดทรัพยากรนั้นทุกอย่างจะเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมดผ่านทางหน้าเว็บ ไม่จำเป็นต้องโทรไปบอกผู้ให้บริการว่าเราต้องการเพิ่มหรือลดอะไร และเมื่อเราทำการรายการตามความต้องการของเราผ่านทางหน้าเว็บแล้ว ระบบก็จะทำการเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ ให้เป็นไปตามที่เราต้องการในทันทีไม่ต้องรอให้คนเข้าไปทำทีหลัง
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ให้บริการ Cloud Computing Service มักจะมี Web Portal เป็นด้านหน้าที่คอยให้บริการลูกค้าเวลาการทำธุรกรรมต่างๆ ของลูกค้าก็จะผ่านเจ้า Web Portal นี้ก่อนที่จะเชื่อมต่อไปยังระบบ Cloud Computing หลังบ้าน ทุก
ตลาดไปทางไหน
ภาพจาก  www.lustratusrepama.com
ปัจจุบันถ้าเราไปไล่ดูว่าในตลาดของ Cloud Computing นั้นมีใครทำมาหากินอยู่บ้างจะเห็นได้ว่ามีอยู่เยอะมากแค่เท่าที่มีอยู่ตอนนี้เยอะมากแล้วยิ่งในอนาคตก็น่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ผู้ให้บริการแต่ละที่ต่างก็มีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันออกไป การให้บริการของ Cloud Computing แต่ละ Service นั้นไม่ได้เหมาะสมกับทุกๆ องค์กร เพราะแต่ละองค์กรเองก็มีความต้องการแตกต่างๆ กันออกไป และมีข้อจำกัดของแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน
องค์กรขนาดใหญ่

ภาพจาก www.Cisco.com
ในองค์ของขนาดใหญ่นั้นโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะสนใจที่จะใช้ Cloud Computing เหมือนกัน เพราะจุดเด่นของ Cloud Computing ที่องค์กรสนใจก็คือเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรที่ทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องบริหารจัดการเครื่อง Server หลากหลายยี่ห้อ สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วขึ้น และไม่ต้องลงทุนในการซื้อเครื่อง Server ทุกครั้งที่มีโครงการใหม่ๆ แต่คงไม่ใช่ Public Cloud Computing ที่บริการลูกค้าทั่วไป สิ่งที่องค์กรใหญ่ๆ สนใจก็คือการสร้าง Cloud Computing ที่เป็นของตัวเองหรือที่เรียกว่า Private Cloud เพราะสิ่งที่เขาเป็นกังวลก็คือเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลในองค์กร คงไม่มีองค์ใหญ่ๆ ที่ไหนอยากจะเอาข้อมูลของตัวเองเอาไปฝากไว้กับคนอื่น แถมข้อมูลยังไปปะปนกับข้อมูลขององค์กรอื่นๆ อีกด้วย อีกอย่างคือองค์กรขนาดใหญ่นั้นมักจะมี Software เฉพาะที่เป็นของตัวเองอยู่แล้วไม่ว่าจะซื้อมาแล้วพัฒนาต่อ หรือพัฒนาขึ้นมาใหม่ ทำให้องค์กรใหญ่ๆ นั้นไม่มีความต้องการในการใช้บริการ Software ที่ให้บริการอยู่บน Cloud เพราะฉะนั้นแล้วองค์กรใหญ่ๆ มีแนวโน้มที่จะสร้าง Private Cloud มากกกว่าการที่จะไปใช้ Public Cloud ฟันธงครับ
องค์กรขนาดกลาง
ส่วนขององค์กรขนานเล็กเองก็มีปัญหาคล้ายๆ กับองค์ขนาดใหญ่ก็คือปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรทางด้านไอที ที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เครื่องมีมากขึ้นระบบที่ใช้ก็มีมากขึ้น คนดูแลก็มีเท่าเดิม Skill ก็มีจำกัด ไหนจะเรื่องสถานที่ที่จะเก็บเครื่อง Server จำนวนมากอีก องค์กรขนาดกลางเองก็อยากที่จะใช้บริการของ Cloud Computing เช่นเดียวกัน แต่จะให้เขาลงทุนสร้าง Private Cloud ของตัวเองก็คงไม่สามารถลงทุนได้เพราะต้นทุนนั้นสูงเกินไป ดังนั้นองค์กรระดับกลางเองจึงเล็งไปที่การให้บริการในแบบ Infrastructure as a Service มากกว่า เพราะเขาสามารถบริหารจัดการภายในเครื่องทั้งเครื่องได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อเครื่อง Server อีกทั้งยังสามารถขยายความสามารถของเครื่องขึ้นได้เรื่อยๆ ได้อย่างรวดเร็วในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย
องค์กรขนาดเล็ก
ตัวอย่าง Software as a Service จาก Google
องค์กรขนาดเล็กที่คนดูแลระบบไอทีก็ไม่ค่อยจะมีนั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการให้บริการในแบบ Software as a Service เพราะองค์กรขนาดเล็กเองที่ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นกับระบบไอทีอย่างไรดี หรือจะใช้ระบบไหนดีในการบริหารจัดการด้านไอที หรือไม่มีแม้แต่คนที่มีความรู้ด้านไอทีที่จะมาคอยดูและระบบหลักๆ ให้กับองค์กร Service ของ Software ในด้านต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะอย่างน้อยเขาก็จะมี Software ที่ความสามารถใกล้เคียงกับ Software ที่องค์กรขนาดใหญ่ใช้งาน แถมยังไม่ต้องลงทุนสูงในการซื้อหามาเป็นเจ้าของอีกด้วย แค่จ่ายค่าใช้งานรายเดือนก็สามารถมี Software ระดับ Enterprise ใช้งานได้แล้ว
ส่งท้าย
ถ้ากล่าวถึงความพร้อมของ Cloud Computing ว่าพร้อมที่จะให้บริการหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าพร้อมครับ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ด้านฮาร์ดแวร์ ด้านซอฟท์แวร์ ด้านบริการในส่วนต่างๆ หรือด้านความพร้อมของผู้ประกอบการเอง ทุกด้านพร้อมแล้วที่จะให้บริการ ในปัจจุบันเองก็มี Service ต่างๆ ออกมาให้เราเลือกใช้ได้อยู่หลายแห่ง เพียงแต่มันไม่ได้อยู่ในประเทศของเราเท่านั้นเอง เป็นบริการที่ต่างประเทศเขาทำไว้เพราะว่าเขาพร้อมแล้วในทุกๆ ด้านเพื่อให้บริการ จริงๆ แล้วด้วยการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะใครจะให้บริการที่ไหนก็คงไม่ใช่ประเด็น ขอเพียงแต่ให้อยู่บนอินเตอร์เน็ตเท่านั้นเราก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้เหมือนกันหมด ก็คงมีแค่บางประเด็นเท่านั้นที่ต้องคำนึงถึงอย่างเช่นเรื่องกฎหมาย เพราะกฎหมายนั้นไม่ครอบคลุมถึงการให้บริการที่อยู่นอกเหนือประเทศของเรา ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาก็คงลำบากเหมือนกัน อีกเรื่องก็น่าจะเป็นเรื่องความเร็ว ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเร็วในการเชื่อมต่อกับต่างประเทศนั้นจะสูงมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สู้ความเร็วในการเชื่อมต่อภายในประเทศได้อยู่ดี
ความเป็นไปได้ในการให้บริการของผู้ประกอบการภายในประเทศ ถ้าจะมองตามหลักแล้ว Service ประเภท Software น่าจะเป็น Service แรกๆ ที่เปิดให้บริการเพราะไม่ต้องการการลงทุนสูงมาก ใครๆ ก็สามารถสร้าง Service ประเภท Software ออกมาให้บริการได้ไม่ยาก แต่การให้บริการด้าน Platform และ Infrastructure ทั้งสองอย่างนี้นั้นจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก กว่าจะสามารถให้บริการได้ Infrastructure น่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนจากนั้นทาง Platform ถึงจะตามมา ด้านผู้ประกอบการทั้งสองด้านนี้คงมีไม่มากนั้นเพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนแรกว่าจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง ผู้ที่มีโอกาสในการที่จะลงทุนในด้านนี้ก็คือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในด้าน Internet Data Center อยู่แล้ว เพราะมี IDC เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มี Internet Connection ที่มี Bandwidth สูงอยู่แล้ว เหลือเพียงแต่ลงทุนทางด้าน Hardware ของ Cloud Computing เพิ่มเติมเท่านั้นเอง